สภาพและปัญหาในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย
The situations and problems of the development of e-Government in Thailand
Abstract
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสานวิธี ประกอบด้วยการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ เพื่อให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่มีความถูกต้องเที่ยงตรง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ผู้ให้ข้อมูลได้แก่ ผู้บริหารนโยบายที่รับผิดชอบในโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จากหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง จำนวน 7 คน สำหรับการวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้ข้อมูลประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบในโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 75 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง และเก็บข้อมูลจากการใช้แบบสำรวจทางอิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ (e-Survey) ผู้ให้ข้อมูลได้แก่กลุ่มพลเมืองที่มีประสบการณ์ในการใช้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,400 คน โดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบโควตา ตามเกณฑ์การจัดช่วงอายุของพลเมือง การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยประกอบด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์เนื้อหา การตีความและสรุปตามประเด็น การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลที่ได้จากการวิจัยแสดงถึงสภาพปัจจุบันในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย นำเสนอสาระในประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) นโยบายและทิศทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย 2) การให้ความสำคัญกับองค์ประกอบของการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 3) การพัฒนาบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 4) การพัฒนาระดับการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 5) ด้านความโปร่งใส 6) การศึกษาความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มพลเมือง 7) การมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ของพลเมือง และ 8) การประเมินผลการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ พบว่ามีประเด็นที่สำคัญและเร่งด่วนในการพิจารณาแก้ไข ได้แก่ 1) นโยบายและทิศทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประเทศไทย 2) ภาวะผู้นำ 3) โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) การสนับสนุนด้านงบประมาณจากภาครัฐ 5) การบูรณาการข้อมูลและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างองค์กรภาครัฐ 6) กฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับ 7) บุคลากรภาครัฐ 8) การใช้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของพลเมือง