ความคาดหวังของอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่มีต่อการบริการห้องสมุด เพื่อสนับสนุนงานวิจัย 31มหาวิทยาลัยขอนแก่น
Expectations of faculty and graduate students of Khon Kaen University toward library services to support the research of the University
Abstract
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันของการจัดบริการเพื่อการวิจัยแก่อาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2) เพื่อศึกษาความคาดหวังด้านบริการห้องสมุดเพื่อสนับสนุนงานวิจัยของผู้ใช้บริการที่เป็นอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น 3) เพื่อสังเคราะห์ความรู้ความสามารถของบุคลากรที่จำเป็นในการให้บริการสนับสนุนการวิจัย กลุ่มประชากรได้แก่ อาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปฏิบัติงานและศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2555 ใน 3 กลุ่มสาขาวิชา คือ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จำนวน 115 คน โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากลุ่มและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสัมภาษณ์และแบบบันทึกผลการสนทนากลุ่มย่อย
ผลการวิจัยพบว่า
- 1. สภาพปัจจุบันของการจัดบริการเพื่อการวิจัยแก่อาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ห้องสมุดได้จัดบริการดังนี้ 1) ด้านทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดดำเนินการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่หลากหลาย มีการจัดเก็บทรัพยากรสารสนเทศอย่างเป็นระบบ 2) ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก อาคารสถานที่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดให้บริการโดยมีห้องสมุดจำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย หอสมุดกลาง ห้องสมุดวิทยาเขตหนองคาย และห้องสมุดคณะ/สถาบันที่อยู่ในความดูแล จำนวน 12 แห่ง จัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ได้แก่ ที่นั่งอ่าน เครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการสืบค้นทรัพยากรสารสนเทศและฝึกอบรมการสืบค้นสารสนเทศ บริการจุดบริการเครือข่ายไร้สาย (Access Point) ภายในห้องสมุด ห้องฝึกอบรมการสืบค้นสารสนเทศและการใช้สารสนเทศ ห้องศึกษาค้นคว้าวิจัย และห้องบริการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามอัธยาศัย (Self Directed Learning-SDL Room) 3) ด้านบริการแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 3.1) บริการพื้นฐาน 3.2) บริการเชิงรุกและบริการพิเศษ เป็นบริการที่จัดให้โดยที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องร้องขอ 3.3) บริการแหล่งเรียนรู้เฉพาะสาขาวิชา
- 2. ความคาดหวังของผู้รับบริการสามารถสรุปได้ 3 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านบริการสนับสนุนการการวิจัย กลุ่มตัวอย่างต้องการให้จัดการบริการแนะนำ/อบรมการสืบค้นข้อมูลหรือการใช้โปรแกรมอย่างต่อเนื่อง และมีการประชาสัมพันธ์สม่ำเสมอ 2) ด้านบริการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่สนับสนุนการวิจัย พบว่าบริการสนับสนุนการวิจัยตามความเห็นของของอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาความคาดหวังมากที่สุดคือ บริการรายชื่อทรัพยากรใหม่ของห้องสมุดส่งถึงตัวผู้รับบริการ ส่วนบริการที่มีความคาดหวังน้อยที่สุดคือ บริการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศแก่ผู้รับบริการ 3) ด้านบริการการจัดกายภาพและพื้นที่ให้บริการอ่านที่สนับสนุนการทำวิจัย พบว่าอาจารย์และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามีความคาดหวังมากที่สุดคือ การเพิ่มจำนวนโต๊ะอ่านหนังสือและเพิ่มพื้นที่ศึกษาส่วนตัว ส่วนบริการที่มีความคาดหวังน้อยที่สุดคือ การขยายระยะเวลาให้บริการเพิ่มวันยืมหนังสือ และขยายบริการรับ-ส่งทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัย
3. การสังเคราะห์รูปแบบการให้บริการและความรู้ความสามารถของบุคลากรผู้ให้บริการ พบว่าควร มี 4 ด้านคือ 1) ความรู้ความสามารถด้านแนะนำ/อบรม/สอนการใช้ฐานข้อมูลและโปรแกรมต่างๆ 2) ความรู้ความสามารถด้านการค้นคว้าจากฐานข้อมูล 3) ความรู้ความสามารถด้านการให้คำแนะนำในการวิจัย 4) ความรู้ความสามารถด้านการจัดหาทรัพยากรสารสนเทศที่สนับสนุนการวิจัย และความรู้ความสามารถด้านการจัดกายภาพและพื้นที่ให้บริการ ที่สนับสนุนการทำวิจัย