การประเมินคุณภาพการบริการด้วยแบบจำลอง LibQUAL+ ตามทัศนะของผู้ใช้บริการ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Assessment of Library Service Quality with LibQUAL+ at the Academic Resource Center, Mahasarakham University
Abstract
การวิจัยเรื่อง การประเมินคุณภาพการบริการด้วยแบบจำลอง LibQUAL+ ตามทัศนะของ ผู้ใช้บริการ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (Library Users Assess Service Quality with LibQUAL+ at the Academic Resource Center Mahasarakham University) มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินคุณภาพการบริการโดยรวมของสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามในความคิดเห็นของผู้ใช้บริการทั้งผู้ใช้ภายในและศูนย์บริการวิชาการภายนอก และเพื่อศึกษาปัญหาในการใช้บริการของผู้ใช้บริการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ใช้บริการสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งได้จากการกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan) และสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Sampling) ดังนี้ 1.) บุคลากร 458 คน 2.) นิสิต 689 คน 3.) นักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จำนวน 291 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบประเมินที่ปรับปรุงจาก LibQUAL+ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดการรับรู้และความคาดหวังของผู้ใช้บริการ ที่มีต่อคุณภาพบริการของ ห้องสมุดใน 4 มิติ คือ ทรัพยากรและการเข้าถึง (Access to Information) การบริการ (Affect of Service) สถานที่และสิ่งแวดล้อม (Library as Place) และการควบคุมปฏิสัมพันธ์ (Personal Control) ประกอบด้วยคำถาม 25 ข้อ แต่ละข้อคำถามจะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 9 ระดับ แบ่งเป็น 3 ช่องระดับ คือ ระดับบริการต่ำสุดที่ยอมรับได้ (Minimum-acceptable service level) ระดับการรับรู้หรือระดับบริการตามความเป็นจริงที่ได้รับ (Perceived level of service) และระดับบริการที่ปรารถนา (Desire level of service) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS for Windows สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน